“ดีป้า” นำร่องขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพผ่านมาตรการส่งเสริม

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนำร่องขับเคลื่อนดิจิทัลสตาร์ทอัพ และกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่าน 4 มาตรการส่งเสริม ทั้งมาตรการผลักดันด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลงานนวัตกรรม มาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการสร้างความเชื่อมั่นผ่านระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ


นายมีธรรม ณ ระนองรักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษปฎิบัติหน้าที่แทนรองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้ามีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และแผนระดับชาติด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ที่ผ่านมาดีป้ามีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไล่ระดับต่อยอดในหลายด้าน 

มาตรการแรก ดีป้าดำเนินการสนับสนุนให้ Digital Start up และกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้าถึงการจดแจ้งลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 200ราย พร้อมประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายของดีป้า ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกกลุ่ม AEC รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  (กฎหมายสิทธิบัตรการออกแบบ กฎหมายสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ กฎหมายเครื่องหมายการค้ากฎหมายลิขสิทธิ์) เพื่อนำเสนอข้อมูลปัญหาและอุปสรรคทางด้านกฎหมายที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาของกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนการเติบโตและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมดิจิทัล และเตรียมนำเสนอแนวทางการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อใช้ในทางธุรกิจให้กับสถาบันการเงินและเพื่อผลักดันเข้าสู่มาตรการที่ 2 คือ มาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดีป้า ไม่ใช่ผู้ให้เงินทุน แต่เราส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีการอนุมัติโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการในวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ Digital Startup และ กลุ่มผู้ประกอบการ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในเบื้องต้น บสย.แบ่งกลุ่มการให้ความสนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อออกเป็น 2กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Digital Start up และบุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 ล้านบาท และนิติบุคคลไม่เกิน5 ล้านบาท และกลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีบุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 ล้านบาท และนิติบุคคลไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อผลักดัน จูงใจ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 20 แห่ง ซึ่งเป็นพันธมิตรกับดีป้า โดยกลุ่มเป้าหมายที่มีความ

ประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการค้ำประกันจาก บสย. จะต้องผ่านการรับรองคุณสมบัติจากทางดีป้า เพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนและดีป้าจะผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ สามารถเข้าถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในมาตรการที่ 3 ต่อไป

 

 

มาตรการที่ 3 คือ การส่งเสริมการลงทุน ดีป้าร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดำเนินการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โดยเฉพาะประเภทกิจการที่เกี่ยวกับคลัสเตอร์ดิจิทัลซึ่งมีรายละเอียด สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่หลากหลายมากขึ้น โดยสำนักงานได้มีการจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำปรึกษา ตลอดจนจัดทำบทเรียน e-Learning ด้านการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเผยแพร่ โดยผลการดำเนินการที่ดีป้าได้ร่วมกับ BOI ในการสนับสนุนการลงทุนในปี 2559 นั้น โครงการที่อยู่ในคลัสเตอร์ดิจิทัลได้รับการอนุมัติจาก BOI จำนวน 264 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,230.30 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวน 6,224 คนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีการอนุมัติโครงการรวมทั้งสิ้นจำนวน 123 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,120.30 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมด 3,129 คน

 

นอกจากนี้ ดีป้ายังสร้างความเชื่อมั่นโดยการสร้างมาตรการที่ 4 คือ การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและยืนยันการมีตัวตน ขณะนี้ ผ่านการรับรองการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้นจำนวน 70 ราย และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจำนวน 310 ราย เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านการตลาดให้กับกลุ่มผู้ใช้งานดิจิทัล กลุ่ม Digital Start up และกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อไป

ความคิดเห็น