ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ
ซิป้า และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง ขับเคลื่อนขยายผลการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ Personal Health Record (PHR) เพื่อให้เกิดการใช้งานในระดับจังหวัด
ระบบข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบ PHR นี้ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลและโรงพยาบาลกับหน่วยงาน เกี่ยวกับสาธารณสุขของประชาชนในแต่ละจังหวัด อาทิ ข้อมูลทั่วไป ประวัติการรักษาที่ผ่านมา การแพ้ยา รวมถึงนำเข้าข้อมูลการดูแลสุขภาพของแต่ละบุคคล การออกกำลังกาย ผลการตรวจร่างกาย ช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองระหว่างรอการพบแพทย์ครั้งหน้า และเปรียบเทียบและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ด้วย สามารถบริหารข้อมูลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบ สามารถติดตามและบริหารนัดพบแพทย์ได้ เป็นต้น โดยข้อมูลถูกออกแบบให้รวบรวมไว้ใน PHR Data Center ของแต่ละจังหวัด ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลาโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ Tabletหรืออุปกรณ์ Smart Devices
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลที่มาของระบบ PHR เริ่มต้นการพัฒนาโดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และ ความร่วมมือกับจังหวัดนครนายก โดยสาธารณสุขจังหวัดนครนายก พัฒนาออกมาเป็นระบบต้นแบบและทดลองนำร่องใช้งานจริงใน 4 อำเภอของจังหวัดนครนายก ครอบคลุมโรงพยาบาลนครนายก โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 56 แห่ง ก่อนการใช้งานประชาชนลงต้องทะเบียนเข้าใช้งานระบบกับนักจัดการสุขภาพของหน่วยบริการในพื้นที่รับผิดชอบ โครงการระบบ PHR ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสารสนเทศด้านสุขภาพที่มีการสร้างมาตรฐานโครงสร้างข้อมูล สามารถส่งต่อให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์นำไปต่อยอดและขยายผลในอนาคตต่อไป ซึ่งระบบ PHR มีฟังก์ชันได้หลากหลายตามขอบเขตการใช้งาน เช่น Software Platform, Open Technology, Database Management System, คลังข้อมูล, Big Data Analytics, Intelligent Search, Visualization, Cloud System, และ Machine Learning และการพัฒนาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Wearable Devices ในอนาคต
ด้านนายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่าสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ PHR เป็นการพัฒนาระบบการบริการซอฟต์แวร์สำหรับภาคประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนในพื้นที่ได้ตรงจุด ทำให้การดูแลสุขภาพ และการติดตามการรักษาพยาบาลได้ตลอดเวลา ในการดำเนินโครงการระยะนี้ ซิป้าสนับสนุนการสร้างแอปพลิเคชันที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยหวังว่าจะมีแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ หรือ Healthcare มาให้ประชาชนเลือกใช้มากขึ้น และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศให้มีการเติบโต จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพที่ดีได้ต่อไป สำหรับการดำเนินขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 ที่ ตั้งเป้าหมายขยายผลการใช้งานไม่น้อยกว่า 3,000 ราย ใน 4 จังหวัดคือ ภูเก็ต ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ และ กาญจนบุรี
สำหรับความร่วมมือของ 4 สาธารณสุขจังหวัดภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ช่วยสนับสนุนในเรื่องการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสุขภาพของสาธารณสุขจังหวัด หรือ Health Data Center มาที่ระบบ PHR ที่ทางทีมงานได้ทำการออกแบบระบบไว้ สนับสนุนให้มีการอบรมนักจัดการสุขภาพของจังหวัดและขยายผลโดยเปิดระบบให้ประชาชนเข้ามาใช้ระบบ
ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เนคเทค และ SIPA คาดหวังว่า จะมีประชาชนใน 4 จังหวัดนี้ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองและใช้ระบบ PHR นี้เต็มที่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายผลการใช้งานไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้นี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น