ไอพีพีเอสประเมินการเติบโตตลาดอีเพย์เมนท์กำลังไปได้สวย หลังรัฐบาลไฟเขียวหนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการอีเพย์เมนท์ ระบุเชื่อมั่นในการส่งเสริมของภาครัฐที่ผลักดันการเข้าสู่ตลาดที่ไม่ใช้เงินสด จะส่งผลให้การแข่งขันในทางธุรกิจไปได้สวย
ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น จำกัดหรือ IPPS กล่าวว่าจากมติที่ประชุมคณะกรรมการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนท์) เห็นชอบพิจารณาให้ผู้ประกอบการและประชาชนหันมาใช้ระบบอีเพย์เมนท์ กันให้มากขึ้นนั้น ในส่วนของไอพีพีเอส ผู้ให้บริการอีเพย์เมนท์หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประเภท ค (6) ซึ่งเป็น 1 ใน 11 รายของประเภท Non-bank ภายใต้แบรนด์ เพย์ฟอร์ยู (PayforU) คาดการณ์ว่าสถานการณ์ตลาดอีเพย์เมนท์ในปีหน้าจะมีการแข่งขันค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ให้บริการหลาย ๆ ราย ที่เตรียมหาพันธมิตรเครือข่าย Banking มาร่วมกันทำตลาด เพื่อเตรียมรองรับการให้บริการการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าในต้นปีหน้าจะสามารถเปิดให้บริการได้เป็นผลสำเร็จหลังจากได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ)
จากการที่ภาครัฐสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอล และการใช้อีเพย์เมนท์ นั้น คาดว่าจะทำให้ตลาดอีเพย์เมนท์เติบโตสูงขึ้น โดยไอพีพีเอสจะเน้นการทำตลาดไปที่โมบายเพย์เมนท์แอปพลิเคชั่น (Mobile Payment Application) ที่จะนำไปสู่กลุ่มการตลาดที่กว้างขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่พร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะการมาของ 4G จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถใช้ช่องทางดิจิตอลในการชำระเงินได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันคนไทยนิยมใช้การชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) เป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นบัตรเครดิตและโมบายเพย์เมนท์ (Mobile Payment) ตามลำดับ ส่วนในอนาคตคาดว่าการใช้งานโมบายเพย์เมนท์ จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากตลาดแรงงานต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งแรงงานกัมพูชา เมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม ทำให้รูปแบบของการโอนเงินระหว่างประเทศในรูปแบบอีเพย์เมนท์เป็นทางเลือกใหม่ ที่เหมาะสำหรับแรงงานที่ไม่มีบัญชีเงินฝากในประเทศไทย รวมไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในไทยด้วย
ทั้งนี้ที่ผ่านมารายได้จากการให้บริการของเพย์ฟอร์ยู (PayforU) ถูกจัดแบ่งออกเป็น 1.ลูกค้าที่ใช้บริการเติมเงินมือถือ 2.ลูกค้าที่จ่ายบิลผ่อนชำระสินค้าเงินผ่อน เช่น เฟิร์สชอยส์ หรืออิออน 3.ลูกค้าที่ใช้จ่ายเงินเพื่อเล่นเกมออนไลน์ และ4.บริการอื่น ๆ โดยรูปแบบการเติมเงินผ่านเพย์ฟอร์ยู สามารถเติมได้กับ ทั้งธนาคารทั้ง 5 แห่ง อาทิ 1.ธนาคารกสิกรไทย 2.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 3.ธนาคารกรุงเทพ 4.ธนาคารไทยพาณิชย์ และ 5. ธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้ ยังสามารถเติมเงินกับพันธมิตรร้านค้าต่าง ๆ เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส เซเว่นอีเลฟเว่น เทสโกโลตัส บิ๊กซี เป็นต้น โดยลูกค้าจะเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 10-15 บาท ให้แก่พันธมิตร/ผู้ให้บริการช่องทางเติมเงิน
ดร.กนกวรรณ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าจะมีคู่แข่งในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงบริการอีเพย์เมนท์ของผู้ให้บริการระบบมือถือ แต่จุดเด่นของเพย์ฟอร์ยู คือ เป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินที่ไม่ผูกติดกับค่ายใดค่ายหนึ่ง และสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ทุกประเภท รวมถึงบัตรเติมเงินเกมและการผ่อนชำระสินค้า นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรช่องทางเติมเงินที่ครอบคลุมผ่านตู้เอทีเอ็มธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ขณะที่การพัฒนาระบบของไอพีพีเอส ยังอาศัยความเชี่ยวชาญจากบริษัทไอเอสเอสพี (ซึ่งเป็นบริษัทหลักที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตมานานกว่า 20 ปี)
หลังเปิดให้บริการอีเพย์เมนท์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นทางการภายใต้แบรนด์ เพย์ฟอร์ยู ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีสมาชิกแล้วราว 7 แสนราย มียอดทำรายการชำระเงินราว 3 หมื่นรายการต่อวันและส่วนใหญ่เป็นการชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปาและใช้บริการเติมเงินต่าง ๆ และเจาะกลุ่มตลาดรายย่อย หรือไมโครเพย์เมนท์ โดยในปีหน้า เมื่อมีการแข่งขันค่อนข้างสูง
ไอพีพีเอสลงทุนระบบไปแล้วหลักร้อยล้านบาท ที่สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานในระบบอีเพย์เมนท์ ผนวกกับการส่งเสริมของภาครัฐที่ผลักดันการเข้าสู่ตลาดที่ไม่ใช้เงินสด และการทำแอนนี่ ไอดี ทำให้โอกาสที่อีเพย์เมนท์จะเติบโตมีสูงมาก และเนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเริ่มต้น ทำให้เรายังประเมินมูลค่าตลาดที่แน่ชัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมองว่าการใช้บริการอีเพย์เมนท์ จำเป็นต้องมีช่วงเวลาของการเรียนรู้ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ ความมั่นใจในระบบธนาคารที่จะส่งผลให้เกิดความเชื่อถือในระบบอีเพย์เมนท์ ขณะที่ระบบพื้นฐานการใช้งานอีเพย์เมนท์ ก็พร้อมอยู่แล้ว
จากสถิติปัจจุบันคนไทยมีบัญชีธนาคาร 76 ล้านบัญชี แต่มียอดผู้ใช้มือถือ 80 ล้านเครื่อง บัตรประชาชนหรือฐานข้อมูลกลาง ที่ผ่านมายังไม่สามารถเช็คได้เรียลไทม์ หรือยังไม่สามารถเช็คประวัติอาชญากรได้ ถ้ารัฐพัฒนาจุดนี้ให้ดีขึ้น โอกาสเติบโตของอีเพย์เมนท์ก็จะสูงขึ้น สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายมีสมาชิก 2 ล้านราย และรายได้ 500 ล้านบาท และกำลังเตรียมหาพันธมิตรเพื่อขยายบริการอีเพย์เมนท์ไปในกลุ่มองค์กรขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้
////////////////////////
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น