เอ็ตด้า ระดมกูรูระดับมันสมอง ร่วมวางทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

ETDA เชิญกูรูจากนานาชาติ พร้อมผู้แทนหน่วยงานรัฐ-เอกชน เปิดการประชุม ETDA High-Level Roundtableหัวข้อ "Digital Economy for Our Future" แลกเปลี่ยนแนวคิด ความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไทยสู่อนาคตอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและ Keynote Speaker ในการเปิดงาน

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นการประชุมร่วมกันของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งของประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรธุรกิจ และหน่วยงานระดับนานาชาติ จากอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อแนะแนวทางให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยสามารถต่อยอดเพื่อเดินหน้าสู่อนาคตได้อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นรูปธรรม

 

ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคของดิจิทัล ยุคของสิ่งที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” ดังนั้น การเข้าสู่การตลาดแบบดิจิทัล (Digital Market) จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และในการปรับโฉมประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการทำงาน จะต้องเข้มแข็งและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ประสบการณ์จากภาคเอกชนจะมีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้มีความพร้อมกับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ให้การดำเนินงานรุดหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น คำที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จในเวลานี้คือ ความร่วมมือ’ ที่จะทำให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่อนาคตที่คาดหวังไว้ได้อย่างมั่นคง”

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนา และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งาน ยังต้องคำนึงถึงการลดความเหลือมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร เพื่อลดช่องว่างดิจิทัล(Digital Divide) และเตรียมการรองรับเพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าว

 

 

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า เวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในครั้งนี้เปรียบได้กับ ‘Think Tank’ ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาสื่อสารและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจถึงภาพการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในองค์รวม

 

“ถึงเวลาที่เราจะต้องดำเนินการสร้างฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม ถึงเวลาที่เราต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ามากที่สุด เพื่ออนาคตของประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิและยกระดับสังคมของประเทศอย่างแท้จริง”

 

ในการประชุมปฏิบัติการเชิงนโยบายครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานชั้นนำจากต่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้วางนโยบายระดับประเทศจากภาครัฐและเอกชนของประเทศ ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การเงินการธนาคาร สื่อดิจิทัล รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น

 

นางสาวอันเดรีย มิลวูด ฮาร์เกรฟ ผู้อำนวยการทั่วไปจากสถาบันการสื่อสารระหว่างประเทศ International Institute of Communication หรือ IIC ประเทศอังกฤษ ได้เสนอต่อที่ประชุมนำเสนอประเด็นท้าทายและจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล คือการให้ความสำคัญในประเด็นทั้ง Cybersecurity, Privacy, Consumer Protection, Citizen Empowerment และ การลงทุน

 

ขณะเดียวกัน นางสาว แอน ลาวิน ผู้อำนวยการ ส่วนงานPublic Policy และ Government Affairs ภาคพื้นเอเชียตะวันออกฉียงใต้ และเกรทเทอร์ ไชน่า บริษัทกูเกิ้ล เอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการพัฒนาไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น Big Data เสมอไป หากแต่ขึ้นอยู่กับการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ หรือด้านการเกษตร สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม (Innovation)จากประโยชน์ของการใช้ข้อมูลที่มีอยู่บนโลกออนไลน์ให้ได้มากที่สุด

 

นอกจากนี้ นางเนริดา โอโลห์ลิน รองเลขานุการ Department of Communication, Australian Government ประเทศออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นถึงประเด็นการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills (ทักษะหรือความชำนาญที่เกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ และทักษะจำเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากทักษะทางวิชาการและ STEM (องค์ความรู้ที่บูรณาการศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน) ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญในลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลโดยได้ใช้เงิน 254.7 ล้านเหรียญออสเตรเลียในช่วงเวลา 4 ปี เพื่อพัฒนาบริการภาครัฐที่มุ่งการพัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน

 

นายเจเรมี โอลิเวียร์ หัวหน้าส่วนมัลติมีเดีย Office of Communication (Ofcom) ประเทศอังกฤษ ได้ชี้ถึงประเด็นการเกิดขึ้นของ “Digital Single Market” ในกลุ่มประเทศ EU ว่าสิ่งสำคัญคือ การพัฒนา Telecommunication การสร้าง Harmonization ในตลาด EU และการลดอุปสรรค (Barrier) ทางการค้าระหว่างประเทศ โดยในอุตสาหกรรมด้าน Telecommunication นั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนาดเล็ก สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้

 

นายทอม เพนท์ฟอนทัส รองประธานด้านบรอดคาสติ้ง จาก Canadian Radio-television and Telecommunications Commission (CRTC) ประเทศแคนาดา กล่าวว่า ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต้องพิจารณาผลตอบแทนการลงทุน พร้อม ๆ กับการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

 

พร้อมกันนี้ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนต่าง ๆ ของประเทศไทยได้แสดงความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจำเป็นต้องดูบริบทของประเทศไทย รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ทำความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย การผลักดันจำเป็นต้องการเกิดจากทุกฝ่ายไม่ใช่แค่เพียงการผลกดันจากภาครัฐ และภาคเอกชนเพียงเท่านั้น




ความคิดเห็น