สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า)ร่วมกับตัวแทนผู้ให้บริการธุรกิจออนไลน์ยักษ์ใหญ่ เทพชอป เอ็นโซโก ขายดีดอทคอม และผู้รักษากฎหมาย ถกประเด็น “วิธีรับมือกับปัญหาธุรกิจอีคอมเมิร์ชไทย สู่ความเป็นสังคมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย”ชี้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและเติบโตได้อย่างมั่นคง
ธุรกิจอีคอมเมิร์ชในประเทศไทยนับเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องขึ้นทุกปี เนื่องจากผู้ค้าไม่ต้องลงทุนค่าใช้จ่ายด้านพื้นที่ในการค้าขายจำนวนมากและผู้ซื้อก็สะดวกในการจับจ่ายโดยไม่ต้องเดินทาง จึงมีผู้ค้าและผู้ซื้อจำนวนมากหน้าหลายตา ทั้งที่อยู่ในระบบซึ่งรับรองและตรวจสอบโดยหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ และที่ไม่อยู่ในระบบอีกเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ชเป็นการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ ความมั่นใจและเชื่อใจจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA เผยว่า “ปัญหาส่วนหนึ่งที่สะสมต่อเนื่องมานาน คือ การฉ้อโกงกันบนโลกออนไลน์ ดังนั้นเพื่อให้สังคมอีคอมเมิร์ชของไทยปลอดภัย และมีมาตรฐานดีกว่าที่เป็นอยู่ เราจำเป็นต้องหามาตรการที่สามารถยืนยันตัวตนได้ทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของ ETDAเพื่อให้อีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง”
นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด (www.lnwshop.com)ผู้ให้บริการตลาดเว็บไซต์สำเร็จรูปชั้นนำของไทย ให้ความเห็นในมุมมองของผู้ให้บริการเว็บไซต์ชั้นนำว่า“สิ่งสำคัญที่สุดในมุมมองของเราคือ ระบบจัดการหลังบ้านที่ดี เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่น ทันทีที่มีการซื้อขายเกิดขึ้น เทพชอปจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเงินที่มาจากผู้ซื้อจะถูกเก็บไว้ส่วนกลาง และหลังจากที่มีการส่งของแล้ว เราจึงจะโอนเงินเข้าบัญชีผู้ขายที่เปิดไว้กับเทพชอป และในกรณีที่เกิดข้อพิพาท ทางเราจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ข้อพิพาทจบลงด้วยดี”
คุณดารกา ศรีไชยยานุพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ จาก www.kaidee.com มองว่า “สำหรับขายดีดอทคอม เราเน้นที่การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยให้มีการพบเจอระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อตรวจดูความถูกต้องของสินค้า หลังจากพอใจแล้วจึงค่อยจ่ายเงินเพื่อรับของ เพื่อตัดปัญหาเบื้องต้นในเรื่องสินค้าที่สั่งไม่ตรงความต้องการของผู้ซื้อ แต่ขั้นตอนการนัดเจอกัน ควรจะต้องมีความปลอดภัยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเฉพาะในกรณีที่ต่างคนไม่เคยเจอกันมาก่อน ควรให้ทั้งสองฝ่ายนัดเจอกันในที่สาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรม หรือการทุจริตใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้”
นายกิตติสันต์ คำทิพย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ของ www.ensogo.co.thให้มุมมองในฐานะเว็บดีลแถวหน้าของไทย ซึ่งมองความสำคัญในเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการทำธุรกรรม นั่นคือเรื่องของความเสถียรของอินเทอร์เน็ต ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการทำธุรกรรม “การพัฒนาเรื่องอินเทอร์เน็ตถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำธุรกรรมออนไลน์นั้นต้องอิงกับประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก หากไม่เสถียร การดีลต่าง ๆ จะยุ่งยากขึ้น เมื่อลูกค้าทำธุรกรรมไปแล้วแต่เกิดปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะต้องทำธุรกรรมใหม่อีกครั้งตั้งแต่ต้น ส่วนเรื่องบริการระหว่างเจ้าของดีลกับลูกค้า เอ็นโซโก้ จะรับบทบาทเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย พร้อมทั้งคอยไกล่เกลี่ยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่ลูกค้าจ่ายเงินในการซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้ว”
ร.ต.อ.มนพัศ ศรีบุญลือ รอง สวป. สน.เพชรเกษม อดีตรอง สว.กก.2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เผยว่า ผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องอยู่บนพื้นฐานความไว้ใจ เพราะไม่มีการเห็นหน้าหรือพูดคุยกันมาก่อน สินค้าก็ไม่สามารถจับต้องเหมือนเดินไปซื้อที่ร้านค้า มีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงจากฝั่งผู้ซื้อ เช่น การจ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ หรือได้ของแต่ไม่ตรงตามความต้องการตามที่เห็นในภาพ หรือร้ายสุดคือการตกเป็นเหยื่อในการรับของโจรโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ผู้ซื้อมีความผิด ขณะที่ทางฝั่งผู้ขายเกิดความเสี่ยงคือผู้ซื้อไม่ได้โอนเงินจริง หรือผู้ซื้อสวมรอยเป็นคนอื่น ดังนั้นเมื่อมีการซื้อขายออนไลน์เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายต้องมีการบันทึกทุกอย่างโดยละเอียด เช่นที่มาของเงิน ที่อยู่ในการส่งของ หรือทางฝั่งผู้ซื้อต้องมีการบันทึกว่าซื้อจากที่ไหน ซื้ออะไร อย่างไรบ้าง ราคาเท่าไร เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาจะได้มีหลักฐาน และแจ้งความ ณ สถานีตำรวจ ในท้องที่ที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำธุรกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ได้กล่าวสรุปในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมว่า “ประเด็นที่ร้านค้าควรให้ความสำคัญคือ การจัดทำเรื่องของไวต์ลิสต์และแบล็กลิสต์ เพื่อให้ผู้ซื้อรู้สึกมั่นใจในการทำธุรกรรมกับร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นการช่วยลดกรณีพิพาท รวมถึงการโกงได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันนักธุรกิจจะต้องมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ นอกจากนี้เรื่องของอีเพย์เมนท์เกตเวย์นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับการทำอีคอมเมิร์ซ และเป็นสิ่งที่ต้องมีการพัฒนาและผลักดันอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีตัวกลางมาช่วยดูแลและจัดการด้านธุรกรรม รวมถึงจัดการในเรื่องการระงับข้อพิพาท และเป็นนโยบายที่ต้องมีการสานต่ออย่างจริงจังในอนาคต เพื่อพัฒนาอีคอมเมิร์ชของไทยให้มั่นคงแข็งแกร่ง ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย หากต้องมีความน่าชื่อถือในระดับสากลเช่นกัน”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น