ETDA (เอ็ตด้า) เปิดยุทธศาสตร์ “Green e-Commerce” (กรีน อีคอมเมิร์ซ) เล็งดึง OTOP และ SME เข้าโครงการ มุ่งขยายการเติบโตพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบครบวงจร

29 มิถุนายน 2558, กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดินหน้าผลักดันการเติบโตธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศแบบองค์รวม เปิดโครงการ “Green e-Commerce : บ่มเพาะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย”เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) อีคอมเมิร์ซไทยแบบครบวงจร นำร่องด้วยการเสริมทักษะความรู้แก่ผู้ประกอบการ 400 ราย พร้อมติวเข้มเทคนิคการตลาดออนไลน์และสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ ตลอด 2 เดือน ทั้งนี้ ETDA ตั้งเป้าเพิ่มผู้ประกอบการ OTOP และ SME เข้าสู่ตลาดออนไลน์ พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 10,000 รายในปี 2559
 
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า โครงการ Green e-Commerce คือ โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงปลอดภัย เพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสทางตลาดให้แก่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว
 
“ที่ผ่านมา แม้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยจะมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าเติบโตในอัตราส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน รวมถึงโซเชียลมีเดียของไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังคงมีอุปสรรคในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น การขาดความรู้ความเข้าใจในการขายสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  การขาดทักษะในการทำออนไลน์มาร์เกตติ้ง การขาดพี่เลี้ยงหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจอย่างครบวงจรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีปัญหาทางฝั่งผู้ซื้อที่ไม่เชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ทำให้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทยล่าช้ากว่าหลายประเทศทั้งในภูมิภาคอาเซียน และเอเชีย ETDA จึงเข้ามารับหน้าที่ในการสร้างอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือ ได้มาตรฐาน และมั่นคงปลอดภัย เพื่อเพิ่มทั้งปริมาณ และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” นางสุรางคณา กล่าว
 
เพื่อให้กรอบการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตอย่างเข้มแข็ง และน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการ ร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “Green e-Commerce” จึงต้องมีคุณสมบัติที่สอดคล้องตามที่กำหนด   ร้านค้าทุกร้านต้องจดทะเบียนการค้า (บุคคลธรรมดา) หรือจดทะเบียนนิติบุคคลไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จำหน่ายสินค้าที่ถูกต้องตามกฎของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และองค์การอาหาร และยา (อย.) และที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบตัวตนของธุรกิจได้โดยเจ้าหน้าที่ของ ETDA 
 
“ดังนั้น ETDA จึงเล็งเห็นความสำคัญ ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งเหมือนเป็น “ต้นอ่อน” ในระบบอีคอมเมิร์ซ ที่เรามุ่งมั่นบ่มเพาะดูแล ให้เติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ที่มั่นคง เสมือนการเติบโตที่แข็งแกร่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Green e-Commerce จึงเป็น โลกของการทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์พร้อม ทั้งกรอบการทำธุรกิจ คุณสมบัติของผู้ค้า การให้การฝึกอบรมพร้อมเครื่องมือดิจิทัลที่จะช่วยให้ร้านค้าสามารถเติบโต พร้อมดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงแข็งแรง ขณะเดียวกัน ผู้ซื้อก็จะได้รับความมั่นใจในการทำธุรกรรมกับร้านค้าที่อยู่ในระบบ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในลำดับต่อไป” นางสุรางคณา กล่าวอธิบายถึงที่มาของชื่อที่ใช้ในโครงการ

โครงการ Green e-Commerce ในวันนี้ จึงนำร่องส่งเสริมผู้ประกอบการ 400 ราย ที่มีคุณสมบัติตามที่โครงการกำหนดและผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการ เข้ามาร่วมโครงการเพื่อรับการอบรมเสริมสร้างทักษะด้านการทำอีคอมเมิร์ซ และการตลาดออนไลน์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเครื่องมือทำการตลาดออนไลน์โดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแลตลอด 2 เดือน  ทั้งนี้ ETDA มุ่งมั่นสานต่อโครงการ Green e-Commerce อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ตั้งเป้าหมายที่จะดึงผู้ประกอบการร้านค้าเข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซที่มั่นคงปลอดภัย แต่ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าพื้นถิ่น และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (OTOP SME) ที่สามารถผลิตสินค้าที่คุณภาพ และมีเอกลักษณ์เพื่อทำตลาดบนออนไลน์ได้เช่นเดียวกัน จึงวางแผนที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ เสริมทักษะ  และดึงผู้ประกอบการ OTOP SME เข้าร่วมโครงการ 10,000 ราย ในปี 2559  โดยวางแผนทำงานร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันโครงการไปสู่ผู้ประกอบการให้มากที่สุด
 
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีผู้ประกอบการ OTOP 36,092 ราย มีสินค้ารวม 71,739 ผลิตภัณฑ์(ข้อมูลจาก รายงานจำนวนผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ OTOP ปี 2555) หากสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบการ OTOP SME เข้าสู่โครงการ Green e-Commerce เพื่อสนับสนุนให้ดำเนินการธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มั่นคงปลอดภัย จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับทั้งผู้ประกอบการและมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ  ซึ่ง ETDA วางแผนการดำเนินงาน ด้วยการทำงานร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่กระจายตัวในชุมชนต่างๆทั่วประเทศแล้วกว่า 2,000 แห่ง เป็นต้น โดยมุ่งถ่ายทอดความรู้และทักษะการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้กับผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้เป็นวิทยากรชุมชน ในการถ่ายทอดความรู้และทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการในชุมชนต่อไป
 
“ในการดึง OTOP SME เข้าสู่ระบบ เราวางแผนที่จะผลักดันเว็บไซต์ Thaiemarket.com ซึ่งเป็นเว็บ e-Directory ของร้านค้าออนไลน์ในโครงการ Green e-Commerce ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ของตลาด OTOP SME ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและดึงผู้ประกอบการ OTOP SME เข้าสู่ตลาดออนไลน์ จำนวน 10,000  รายในโครงการ Green e-Commerce ภายในปี 2559” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว
  
ขณะเดียวกัน ETDA ยังสร้างระบบนิเวศทางอีคอมเมิร์ซ หรือ e-Commerce Ecosystem ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการ Green e-Commerce โดยประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
 
1) การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อผู้ขายออนไลน์  : การพัฒนา Thaiemarket.com เพื่อเป็นเว็บ e-Directory ที่รวบรวมเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่มีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบตัวตนได้เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
 
2) การเสริมทักษะเพิ่มพูนความรู้ : การทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ (service provider) ที่เป็นแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ไปจนถึงกลุ่มสื่อโฆษณาออนไลน์ (online advertiser) ประเภทต่างๆ เพื่อให้สร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนติวเข้มเทคนิคการตลาดออนไลน์ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซให้คำปรึกษาตลอดระยะโครงการ
 
3) การปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ : การเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ หรือ Online Complaint Center  (OCC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรองรับปัญหาอันเกิดจากการทำธุรกรรมออนไลน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเฟสแรกนั้น เริ่มต้นดูแลร้านค้าภายใต้ Thaiemarket.com อันเป็นโครงการนำร่อง และพร้อมขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องในอนาคต
 
ทั้งนี้ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ พร้อมเปิดให้บริการแบบออนไลน์ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ซื้อขายออนไลน์จากเว็บ Thaiemarket.com ซึ่งสามารถส่งปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ occ.thaiemarket.com และสามารถร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์ ในเดือนสิงหาคม ได้ที่เบอร์ 02-123-1223 ซึ่งจุดเริ่มต้นของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์นี้จะนำไปสู่การระงับข้อพิพาททางออนไลน์ หรือ  Online Dispute Resolution ทั้งกระบวนการตั้งแต่ร้องเรียนไปถึงไกล่เกลี่ยในอนาคต 




ความคิดเห็น