จุฬาฯ ชูดิจิทัล สตาร์ทอัพ และนวัตกรรมเพื่อสังคมในงาน ดิจิทัล ไทยแลนด์ 2016 เผยแผนผนึกศิษย์เก่าระดมหมื่นล้าน สร้างผู้ประกอบการจริง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกศิษย์เก่า และชมรม IOIC (Intania Open Innovation Club) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบูธอลังการโชว์นวัตกรรมเพื่อสังคมไทย ตอบสนองทั้งเมืองและชนบทเผยแผนใช้พื้นที่ของจุฬาฯจากสยามสแควร์และจามจุรีแสควร์สู่ศูนย์การเรียนรู้น่าน สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้ดิจิทัลสตาร์ทอัพพร้อมระดม 1 หมื่นล้านบาท จากผู้ประกอบการและศิษย์เก่า หวังขับเคลื่อนประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
(26 พฤษภาคม 59) ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีคนใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่งานดิจิทัล ไทยแลนด์ (Digital Thailand) ซึ่งจัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยบูธของจุฬาฯ นำเสนอการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) เพื่อผลักดันสังคมไทยสู่เศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์ที่จะฉุดประเทศออกจาก กับดักรายได้ปานกลาง และมีผลงานตอบสนองคนในสังคม รวมถึงทิศทางใหม่ในการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านนวัตกรรม และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมของอาจารย์และนิสิตเข้ากับทักษะทางธุรกิจและการลงทุนของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบของสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ จะอาศัยการเปิดพื้นที่ของจุฬาฯ ทั้งใจกลางกรุงเทพฯและที่ศูนย์การเรียนรู้ในต่างจังหวัดเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
“ด้วยต้นทุนขอ“คน”“องค์ความรู้ครบทุกศาสตร์” และ“พื้นที่” ที่เรามี จุฬาฯจึงอยู่ในPosition ที่สามารถจะสร้างสิ่งแวดล้อมอันเอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นได้จริงเพื่อก่อให้เกิด Product และผู้ประกอบการรายใหม่ รายได้และการจ้างงานพร้อมๆไปกับส่งเสริมและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่รากฐานของการก่อเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน ซึ่งทางมหาลัยฯ ได้มีการสร้างศูนย์ Innovation Hub ที่ส่งเสริมสู่สตาร์ทอัพ ที่สยามสแควร์ จามจุรีแสควร์ และที่ศูนย์การเรียนรู้ของจุฬาฯ ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นการร่วมกันระดมทุนระหว่างมหาลัยฯกับทางศิษย์เก่าและชมรม IOIC (Intania Open Innovation Club) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้จุฬาดำเนินการจริง ไม่ได้เกาะกระแสสตาร์ทอัพแต่อย่างใด และมุ่งทำให้เกิดผลจริง เนื่องจากเห็นว่า การพัฒนาในรูปแบบดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยภาพรวม ซึ่งในส่วนของนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นแกนหลักสำหรับการขับเคลื่อนครั้งนี้” ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
ในส่วนของ Innovation Hub ที่จะสร้างขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีอยู่หลายจุดด้วยกันคือ สยามสแควร์ เชื่อมต่อ BTS, จามจุรีสแควร์ เชื่อมต่อ MRT และในอีก 3 ปีข้างหน้า มีการวางแผนที่จะเปิดเมืองนวัตกรรม แห่งจุฬา( CU Innovation District) ณ พื้นที่เขตสวนหลวงใกล้กับอุทยานจามจุรีซึ่งเป็นพื้นที่กว่า 30 ไร่ ที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางเมือง
ขณะเดียวกัน ก็จะมีการสร้าง ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมในพื้นที่ชนบทในลักษณะที่จะบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจฐานรากเดิมที่เป็นเกษตรกรรมแต่หาทางดัดแปลงและเพิ่มมูลค่าในกับผลผลิตและกระบวนการ ด้วยวิธีการทางนวัตกรรม ซึ่งส่วนนี้จะไปทำที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ของจุฬาฯที่จังหวัดน่าน
สำหรับผลงานนวัตกรรมทางดิจิทัลของจุฬาฯที่นำเสนอที่งานดิจิทัล ไทยแลนด์ ได้นำเสนอระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(Chula Innovation Ecosystem) ที่สร้าง Startupไทย ก้าวขึ้นถึงระดับ Series A เช่น แอพพลิเคชั่นด้านประกันภัย Claim di เมื่อเกิดรถชน ไม่ต้องเสียเวลารอ ได้รับทุน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (71.6 ล้านบาท) และได้คัดเลือกนวัตกรรมที่ตอบสนองคนในสังคมตลอดช่วงอายุขัย และในทุกพื้นที่ของสังคม ไม่ว่าจะเป็น
• นวัตกรรมถังขยะแยกขยะของนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯฝ่ายประถมที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย(อาทิ รางวัล เหรียญทองเกียรติยศ จาก 44th International Exhibition of Inventions of Geneva และรางวัล Special Prize จาก China Relegation of Invention and Innovation สาธารณรัฐประชาชนจีน)
• โปรแกรมธนาคารขยะออนไลน์ซึ่งเน้นสร้างแรงจูงใจทางการเงินผ่านการรีไซเคิลและมีการออกแบบที่ยืดหยุ่นเป็นมิตรต่อผู้ใช้ซึ่งขณะนี้โปรแกรมนี้มีการนำไปใช้จริงแล้วโดยเกษตรกรและประชาคมในพื้นที่จังหวัดน่าน
• “เวียร์บัส แอพพลิเคชั่นติดตาม และนำทางรถเมล์แบบเรียลไทม์” ที่เริ่มจากความพยายามจัดการกับความหงุดหงิดของการรอรถโดยสารภายในจุฬาฯที่พัฒนาต่อยอดไปจนสามารถนำมาใช้จริงกับรถโดยสารขนส่งมวลชนของ ขสมก. และได้ผลดีมาก
• ระบบ Drone ตรวจวัดสภาพอากาศขนาดเล็กที่ราคาถูก ใช้ง่าย ซึ่งสามารถตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ฝุ่นละออง และหมอกควัน ขณะเดียวกันยังสามารถส่งข้อมูลแบบไร้สาย เหมาะกับพื้นที่ชนบทไปจนถึงพื้นที่ในเมือง
• เกมที่สามารถฝึกฝนสัญญาณคลื่นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสมองชิ้นแรก ของโลก ซึ่งได้รับรางวัลนานาชาติมาหลายรางวัล (เช่น รางวัลเหรียญทอง จาก 44th International Exhibition of Inventions of Genevaเป็นต้น )
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น